24 เมษายน 2560

 

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙
เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๙๙”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙
(๒) พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๐
(๓) บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัด หรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

[ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙]   
[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๒]   
[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การตั้งสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๒]  
[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การตั้งสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๕๓]   

หมวด ๑
บททั่วไป

มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้
(๑) "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) "นายทะเบียนพาณิชย์" หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้เป็นผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) "ผู้ประกอบพาณิชยกิจ" หมายความว่า บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลซึ่งประกอบพาณิชยกิจเป็นอาชีพปกติ และให้หมายความรวมทั้งผู้เป็นหุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดกรรมการ หรือผู้จัดการด้วย
(๕) "สำนักงาน" หมายความว่า สถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชยกิจเป็นปกติ

[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การตั้งสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๒]
[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การตั้งสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๕๓]

มาตรา ๖ ให้ถือกิจการดังต่อไปนี้เป็นพาณิชยกิจ ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัตินี้
(๑) การซื้อ การขาย การขายทอดตลาด การแลกเปลี่ยน
(๒) การให้เช่า การให้เช่าซื้อ
(๓) การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนค้าต่าง
(๔) การขนส่ง
(๕) การหัตถกรรม การอุตสาหกรรม
(๖) การรับจ้างทำของ
(๗) การให้กู้ยืมเงิน การรับจำนำ การรับจำนอง
(๘) การคลังสินค้า
(๙) การรับแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อ หรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การเครดิตฟองซิเอร์ การโพยก๊วน
(๑๐) การรับประกันภัย
(๑๑) กิจการอื่นซึ่งกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

[ดูพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการเป็นพาณิชยกิจ พ.ศ. ๒๕๔๖]  
[ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙] 

มาตรา ๗ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก
(๑) การค้าเร่ การค้าแผงลอย
(๒) พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
(๓) พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
(๔) พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
(๕) พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
(๖) พาณิชยกิจซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ ๘๓ (พ.ศ. ๒๕๑๕) เรื่อง กำหนดพาณิชยกิจที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์]  
[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ ๙๓ (พ.ศ. ๒๕๒๐) เรื่อง กำหนดพาณิชยกิจที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙]   
[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๓]   
 

หมวด ๒
การจดทะเบียนพาณิชย์

มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเป็นครั้งคราวโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า พาณิชยกิจใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๖ ในท้องที่ใด ผู้ประกอบพาณิชยกิจจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์

[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๓]

มาตรา ๙* ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นสำนักงานกลางทะเบียนพาณิชย์มีหน้าที่กำกับดูแลการรับจดทะเบียนพาณิชย์ตามพระราชบัญญัตินี้
ให้กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ เพื่อรับจดทะเบียนพาณิชย์ในท้องที่ของตน
ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีความพร้อมเป็นสำนักงานทะเบียนพาณิชย์เพื่อรับจดทะเบียนพาณิชย์ในท้องที่ของตนได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในการนี้ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดยังคงมีอำนาจรับจดทะเบียนพาณิชย์เฉพาะในท้องที่นอกเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมสถิติและทราบหลักฐานของผู้ประกอบพาณิชยกิจบางประเภทให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ เพื่อรับจดทะเบียนพาณิชยกิจตามประเภทที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

--------------------------------------------------------------------------------
*แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๓ 

[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การตั้งสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๒]  
[ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การตั้งสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๕๓]   

มาตรา ๑๐ การจดทะเบียนนั้น ผู้ประกอบพาณิชยกิจตั้งสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในท้องที่ใด ให้จดทะเบียน ณ สำนักงานพาณิชย์ในท้องที่นั้น
ถ้าสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ และมาประกอบพาณิชยกิจในประเทศไทย สำนักงานสาขาใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ใด ให้จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ในท้องที่นั้น
*ในกรณีที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับจดทะเบียนพาณิชยกิจประเภทใด ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจประเภทดังกล่าวจดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในท้องที่ที่สำนักงานแห่งใหญ่หรือสำนักงานสาขาใหญ่ตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี

--------------------------------------------------------------------------------
*แก้ไขเพิ่มโดยพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๔

มาตรา ๑๑ ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์แห่งท้องที่ตามแบบที่กำหนด ในกฎกระทรวง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้ประกาศตามมาตรา ๘
[ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙] 
ผู้ประกอบพาณิชยกิจผู้ใดประกอบพาณิชยกิจภายหลังวันที่รัฐมนตรีได้ประกาศตามมาตรา ๘ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เริ่มประกอบพาณิชยกิจนั้น
กำหนดเวลาที่กล่าวในมาตรานี้ ถ้ารัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร ก็ให้มีอำนาจประกาศขยายเวลาต่อไปอีกได้

มาตรา ๑๒ การจดทะเบียนพาณิชย์นั้น ให้มีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อ อายุ เชื้อชาติ สัญชาติ และตำบลที่อยู่ของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
(๒) ชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ
(๓) ชนิดแห่งพาณิชยกิจ
(๔) จำนวนเงินทุนซึ่งนำมาใช้ในการประกอบพาณิชยกิจเป็นประจำ
(๕) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ สาขา โรงเก็บสินค้าและตัวแทนค้าต่าง
(๖) ชื่อ อายุ เชื้อชาติ สัญชาติ ตำบลที่อยู่ และจำนวนทุนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน และจำนวนเงินทุนของห้างหุ้นส่วน
(๗) จำนวนเงินทุน จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้นของบริษัทจำกัด จำนวนและมูลค่าหุ้นที่บุคคลแต่ละสัญชาติถืออยู่
(๘) วันที่เริ่มต้นประกอบพาณิชยกิจในประเทศไทย
(๙) วันขอจดทะเบียนพาณิชย์
(๑๐) ชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ ชื่อสัญชาติ และตำบลที่อยู่ของผู้โอนพาณิชยกิจให้ วันที่ และเหตุที่ได้รับโอน

มาตรา ๑๓ การเปลี่ยนแปลงรายการใดๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๒ ก็ดี การเลิกประกอบพาณิชยกิจโดยเหตุใดๆ ก็ดี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์แห่งท้องที่ ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปลี่ยนแปลง หรือเลิก
[ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙] 

มาตรา ๑๔ เมื่อนายทะเบียนพาณิชย์ได้รับคำขอจดทะเบียน และเห็นว่าคำขอนั้นถูกต้องตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และประกาศซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้แล้วก็ให้รับจดทะเบียนไว้ และให้ออกใบทะเบียนพาณิชย์ให้แก่ผู้ขอ
ถ้าใบทะเบียนพาณิชย์สูญหาย ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สูญหาย
ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจแสดงใบทะเบียนพาณิชย์ หรือใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยซึ่งอาจเห็นได้ง่าย

มาตรา ๑๕ เมื่อได้จดทะเบียนพาณิชย์แล้ว ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจไว้ที่หน้าสำนักงานแห่งใหญ่ และสำนักงานสาขา โดยเปิดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียน
ป้ายชื่อนี้ให้เขียนเป็นอักษรไทยอ่านได้ง่ายและชัดเจน และจะมีอักษรต่างประเทศด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกระทำบนแผ่นไม้ แผ่นโลหะ แผ่นกระจก กำแพง หรือผนัง
ชื่อในป้ายก็ดี ในเอกสารใดๆ ก็ดี ต้องใช้ให้ตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้ และถ้าเป็นสำนักงานสาขา ต้องมีคำว่า "สาขา” ไว้ด้วย

มาตรา ๑๖ ให้มีกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่พิจารณา และให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการถอนใบทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบพาณิชยกิจซึ่งกระทำการฉ้อโกงประชาชนปนสินค้าโดยเจตนาทุจริต ปลอมสินค้า หรือกระทำการทุจริตอื่นใดอย่างร้ายแรงในการประกอบพาณิชยกิจ และให้มีอำนาจพิจารณาและให้คำแนะนำในการรับจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่ด้วย
[ดูประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการถอนใบทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบพาณิชยกิจ] 
เมื่อรัฐมนตรีได้รับคำแนะนำของคณะกรรมการ ตามความในวรรคแรก รัฐมนตรีจะถอนใบทะเบียนพาณิชย์หรือสั่งให้รับจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่ก็ได้ แล้วแต่กรณี
ห้ามมิให้ผู้ถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์ประกอบพาณิชยกิจต่อไป เว้นแต่รัฐมนตรีจะสั่งให้รับจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่

มาตรา ๑๗ ให้นายทะเบียนพาณิชย์มีอำนาจออกคำสั่งเรียกผู้ประกอบพาณิชยกิจมาสอบสวนข้อความอันเกี่ยวกับการจดทะเบียน และในระหว่างเวลาทำงานให้นายทะเบียนพาณิชย์ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปทำการตรวจสอบในสำนักงานของผู้ประกอบพาณิชยกิจ เพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องอำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนพาณิชย์และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร

มาตรา ๑๘ ผู้ใดประสงค์จะตรวจดู หรือขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่คัดสำเนา และรับรองสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ มีสิทธิที่จะทำได้ในเมื่อเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว
หมวด ๓
บทลงโทษ

มาตรา ๑๙ ผู้ประกอบพาณิชยกิจผู้ใด
(๑) ไม่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) แสดงรายการเท็จ หรือ
(๓) ไม่มาให้นายทะเบียนพาณิชย์สอบสวน ไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมให้ทะเบียนพาณิชย์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบตามมาตรา ๑๗
มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และในกรณีตาม (๑) อันเป็นความผิดต่อเนื่องกัน ให้ปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งร้อยบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๐ ผู้ประกอบพาณิชยกิจผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔ วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือมาตรา ๑๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท และในกรณีอันเป็นความผิดต่อเนื่องกัน ให้ปรับอีกวันละไม่เกินยี่สิบบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๑ ผู้ประกอบพาณิชยกิจผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ วรรคสาม มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
หมวด ๔
บทเฉพาะกาล

มาตรา ๒๒ การประกอบพาณิชยกิจซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ จนกว่ารัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ยกเลิกการจดทะเบียนนั้น และเมื่อได้ประกาศยกเลิกการจดทะเบียนพาณิชย์ในท้องที่ใดแล้ว ให้ผู้ประกอบ์พาณิชยกิจซึ่งถูกยกเลิกการจดทะเบียนพาณิชย์ในท้องที่นั้นยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศ
กำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้น ถ้ารัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร ก็ให้มีอำนาจประกาศขยายเวลาต่อไปอีกได้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

 

อัตราค่าธรรมเนียม

เลขที่

รายการ

 

บาท

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์   ๕๐

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการ ครั้งละ ๒๐

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจ   ๒๐

ค่าธรรมเนียม ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ฉบับละ ๓๐

ค่าธรรมเนียมขอตรวจดูเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบพาณิชยกิจรายหนึ่ง ครั้งละ ๒๐

ค่าธรรมเนียมขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่คัดสำเนาและรับรองสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนพาณิชย์ ของผู้ประกอบพาณิชยกิจรายหนึ่ง ฉบับละ ๕๐

หมายเหตุ :-  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ และพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๐ ได้ประกาศใช้มานานแล้ว สมควรที่จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมแก่กาลสมัย อาทิเช่น โอนหน้าที่การรับจดทะเบียนพาณิชย์ในจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานกลางทะเบียนพาณิชย์ในจังหวัดพระนคร ไปให้จังหวัดดำเนินการรับจดทะเบียนต่อไป ตามนโยบายกระจายอำนาจของรัฐบาลไปยังจังหวัดท้องที่ เพิ่มพาณิชยกิจที่จะต้องจดทะเบียนบางประเภท เช่นการรับจ้างทำของ การคลังสินค้า ฯลฯ เพื่อประโยชน์ทางสถิติและทราบหลักฐานของผู้ประกอบพาณิชยกิจ เพิ่มรายการจดทะเบียนเงินทุนของผู้ประกอบพาณิชยกิจ เพื่อทราบฐานะการค้าของพ่อค้า แก้ไขอัตราค่าปรับให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย เพราะโทษปรับเดิมกำหนดไว้เป็นเวลานานร่วม ๑๙ ปีแล้ว จำนวนค่าปรับเดิมจึงน้อยไปไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้กระทำผิด เกรงกลัว และเข็ดหลาบได้ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อได้ทราบสถิติและหลักฐานการประกอบพาณิชยกิจของพ่อค้าที่ถูกต้องควรเชื่อถือได้อันจะใช้เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม และการปรับปรุงขยายการเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์เสียใหม่ และยกเลิกพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์เดิมทั้ง ๒ ฉบับ ประกาศใช้ใหม่โดยรวมเป็นฉบับเดียวกัน เพื่อให้พ่อค้าประชาชนเข้าใจง่าย สะดวกแก่การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ